โรคมะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)มะเร็งรังไข่ พบเป็นอันดับที่ 6 ของมะเร็งในผู้หญิง พบได้ในหญิงทุกวัย แต่มากในช่วงอายุ 50-60 ปี
มะเร็งรังไข่บางชนิดอาจพบในเด็กก่อนหรือหลังอายุ 10 ปี
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่
อายุมาก (มักพบมะเร็งชนิดนี้ในหญิง 50-60 ปี)
การไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี
การใช้ฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือนติดต่อกันนานเกิน 5 ปี
การมีภาวะอ้วนตั้งแต่วัย 18 ปี
การมีประวัติว่ามีพ่อแม่ พี่น้องหรือบุตรเป็นมะเร็งรังไข่ เต้านม เยื่อบุมดลูกหรือลำไส้ใหญ่ ซึ่งเกิดจากยีนผิดปกติที่สามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้
อาการ
ระยะแรกมักไม่มีอาการแสดง ต่อมามีอาการคล้ายโรคของกระเพาะปัสสาวะและทางเดินอาหารทั่วไป เช่น แน่นท้อง ท้องอืด มีลมในท้อง คลื่นไส้ รู้สึกปวดปัสสาวะที่ต้องรีบเข้าห้องน้ำ ปัสสาวะบ่อย ปวดท้องน้อย การขับถ่ายผิดปกติไปจากเดิม (เช่น ท้องผูก ท้องเดิน) เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลดหรือขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดหลังตอนล่าง เจ็บปวดขณะร่วมเพศ เป็นต้น ซึ่งมักจะมีอาการอย่างต่อเนื่องและค่อย ๆ มากขึ้นทีละน้อย
บางรายอาจมีประจำเดือนผิดปกติ เช่น ปวดประจำเดือน หรือเลือดออกกะปริดกะปรอย
บางรายอาจมีอาการปวดท้องเฉียบพลันแบบถุงน้ำรังไข่ที่มีขั้วบิด
ในระยะท้ายจะมีอาการคลำได้ก้อนในท้อง ท้องมาน (ท้องบวมหรือเสื้อผ้าคับท้องหรือเอว) และอาการของภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากมะเร็งลุกลามไปยังบริเวณข้างเคียงและอวัยวะอื่น
ภาวะแทรกซ้อน
เกิดภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะต่าง ๆ ที่มะเร็งแพร่กระจายไป มักลุกลามไปที่กระเพาะอาหาร ลำไส้ (ทำให้เกิดภาวะกระเพาะลำไส้อุดกั้น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด), เนื้อเยื่อในช่องท้อง (ปวดท้อง ท้องมาน), ตับ (เจ็บชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน)
นอกจากนี้ อาจแพร่กระจายไปที่กระดูก (ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ), ปอด (เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก), ไต (ปวดหลัง ปัสสาวะเป็นเลือด), สมอง (ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ แขนขาชาและเป็นอัมพาต ชัก)
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจภายในช่องคลอด ซึ่งมักคลำได้ก้อนรังไข่ และทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การใช้กล้องส่องเข้าช่องท้อง (laparoscopy) เพื่อตรวจดูรังไข่และตัดชิ้นเนื้อรังไข่ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ บางรายอาจทำการตรวจหาระดับสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ได้แก่ สาร CA 125 (cancer antigen 125) ในเลือดซึ่งมีส่วนช่วยในการวินิจฉัย
หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน- PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัด และ/หรือการใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy drugs) บางรายอาจให้รังสีบำบัดร่วมด้วย
ผลการรักษา เนื่องจากมะเร็งรังไข่มักตรวจพบในระยะท้ายที่มะเร็งลุกลามไปไกลแล้ว การรักษาจึงได้ผลไม่สู้ดี (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ประมาณร้อยละ 30-40) แต่ถ้าตรวจพบระยะแรกก็มักจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ประมาณร้อยละ 80-95)
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้องน้อย ปัสสาวะบ่อย เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ, ท้องมาน (มีน้ำในท้อง) หรือคลำได้ก้อนในท้อง เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
ขาดยาหรือยาหาย
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล
พบว่ามีปัจจัยที่อาจลดความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ ได้แก่
การมีบุตรมาก
การเลี้ยงทารกด้วยนมมารดา
การกินยาเม็ดคุมกำเนิดนานมากกว่า 5 ปีขึ้นไป แต่เนื่องจากยานี้มีผลข้างเคียงหลายอย่าง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูความเหมาะสมและความปลอดภัยในการใช้ยานี้
ถ้ามีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูว่ามียีนผิดปกติที่ทำให้เกิดมะเร็งหรือไม่ ถ้าพบแพทย์จะได้แนะนำหาวิธีป้องกัน (เช่น ในรายที่มีอายุมากกว่า 35 ปีและมีบุตรแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดรังไข่ออกไป)
ข้อแนะนำ
1. หลังอายุ 40 ปี ควรได้รับการตรวจภายในช่องคลอดและตรวจอัลตราซาวนด์ปีละครั้ง พร้อมกับการตรวจมะเร็งปากมดลูก จะช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งรังไข่ระยะแรกและรักษาให้หายขาดได้
2. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี