โรคเมเนียส์ (โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ก็เรียก) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นใน เป็นเหตุทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับประสาทการทรงตัวและประสาทการได้ยิน มีอาการบ้านหมุน หูตึง มีเสียงดังในหู และรู้สึกแน่นในหูเหมือนมีอะไรอุดเป็นสำคัญ
ส่วนมากจะเป็นที่หูเพียงข้างเดียว แต่บางรายหลังจากเป็นโรคนี้มานานหลายปีจะลุกลามไปที่หู 2 ข้างได้ ซึ่งอาจพบได้ประมาณ 30 ของผู้ป่วยทั้งหมด
โรคนี้พบได้น้อย พบบ่อยในคนอายุ 30-60 ปี โดยมากจะเริ่มมีอาการครั้งแรกตั้งแต่อายุราว 30 ปี แต่ก็อาจพบในคนอายุน้อยกว่า 30 ปีได้ และพบในผู้ชายกับผู้หญิงพอ ๆ กัน
นอกจากนื้ ยังพบว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับโรคไมเกรน ซึ่งพบว่ากลุ่มคนที่เป็นโรคเมเนียส์มีโอกาสเป็นไมเกรนมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่เป็นเมเนียส์ ส่วนกลุ่มคนที่เป็นไมเกรนก็มีโอกาสเป็นเมเนียส์มากกว่ากลุ่มคนที่ไม่เป็นไมเกรน และยังพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เป็นสองโรคนี้ร่วมกัน
สาเหตุ
สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด
พบว่าอาการของโรคนี้เกี่ยวเนื่องกับการมีปริมาณน้ำในหูชั้นใน (เอ็นโดลิมฟ์ หรือ endolymph)* มากผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อประสาทการทรงตัวและประสาทการได้ยิน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของความผิดปกติดังกล่าว
มีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ เช่น อาจเกี่ยวกับความผิดปกติของการระบายของน้ำในหู (อาจเกิดจากมีการอุดกั้น หรือมีความผิดปกติของโครงสร้าง) ศีรษะหรือหูชั้นกลางได้รับบาดเจ็บ หูชั้นกลางอักเสบ การติดเชื้อไวรัส (เช่น เริม งูสวัด อีสุกอีใส หัด คางทูม) โรคซิฟิลิส (ระยะที่ 3) โรคภูมิแพ้ โรคไมเกรน ความผิดปกติของหลอดเลือด (หลอดเลือดแดงหดตัวเช่นที่พบในโรคไมเกรน) ปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง มลพิษทางเสียง หรืออาจเกี่ยวกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ (พบว่าผู้ป่วยบางรายมีประวัติโรคนี้ในครอบครัว) เป็นต้น
อาการของโรคเมเนียส์ อาจมีสาเหตุกระตุ้นให้กำเริบ เช่น ภาวะร่างกายเหนื่อยล้า ความเครียดทางจิตใจ โรคภูมิแพ้ แสงจ้าหรือแสงกะพริบ อาหารเค็ม (เกลือแกง) ผงชูรส กินอาหารผิดเวลา กาเฟอีน ช็อกโกแลต เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาบางชนิด (เช่น แอสไพริน) แต่จะเป็นห่างขึ้นเมื่อสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี และจิตใจไม่เครียด
โรคเมเนียส์
*เอ็นโดลิมฟ์ (น้ำในหูชั้นใน เรียกสั้น ๆ ว่าน้ำในหู) เป็นของเหลวที่อยู่ในถุงเอ็นโดลิมฟ์ (endolymphatic sac) ที่อยู่ภายในหูชั้นใน โดยปกติน้ำในหูจะมีการไหลเวียนถ่ายเทเป็นปกติ ทำให้มีปริมาณที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาทในหูชั้นในซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน เมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะ น้ำในหูจะเกิดการเคลื่อนไหวและกระตุ้นเซลล์ประสาทดังกล่าวส่งสัญญาณไปยังสมองให้รับรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย และเกิดการทรงตัวได้เป็นปกติ เมื่อมีปริมาณน้ำในหูมากผิดปกติ (endolymphatic hydrops) จะส่งผลให้เซลล์ประสาทการทรงตัวและการได้ยินทำงานผิดปกติ เกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน สูญเสียการทรงตัวและความผิดปกติของการได้ยิน
อาการ
มักจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ด้วยอาการบ้านหมุนอย่างฉับพลัน เป็นอาการหลักที่รบกวนผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยในระยะแรก ๆ ที่เป็นโรคนี้ อาจมีอาการรุนแรงจนบางครั้งทำให้ผู้ป่วยยืนไม่ได้หรือล้มลง ต้องนอนพัก และมักมีอาการคลื่นไส้รุนแรง อาเจียน และเหงื่อออกร่วมด้วย
อาการบ้านหมุนอาจเป็นนานครั้งละเป็นนาที ๆ ถึงหลายชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง (พบบ่อยคือ 20 นาทีถึง 2 ชั่วโมง) แล้วหายไปได้เอง แต่จะกำเริบใหม่เป็นครั้งคราว อาจเป็นได้บ่อยมากถึงกว่าวันละ 1 ครั้ง หรือเป็นห่างเพียงปีละ 1-2 ครั้ง โดยการกำเริบครั้งใหม่มักมีการทิ้งระยะห่างที่ไม่แน่ไม่นอน อาจเว้นไปนานเป็นวัน ๆ สัปดาห์ ๆ เดือน ๆ หรือเป็นปี ๆ ก็ได้ และจะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังนานหลายปี หรือจนกว่าเกิดอาการหูหนวก
ผู้ป่วยมักมีอาการหูตึง (ได้ยินไม่ชัด) มีเสียงดังรบกวนในหู และรู้สึกแน่นในหู (คล้ายมีอะไรอุด) ร่วมด้วย ซึ่งมักเกิดขึ้นในหูข้างที่ผิดปกติเพียงข้างเดียว บางรายอาจมีอาการเหล่านี้นำมาก่อนที่จะเกิดอาการบ้านหมุน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเดิน หรือตากระตุกร่วมด้วย
อาการหูตึงหรือได้ยินไม่ชัดมักเป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว จะทุเลาดีในช่วงที่ปลอดจากอาการบ้านหมุนกำเริบ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้นจะมีอาการแย่ลง ในระยะแรก ๆ ของโรคจะมีลักษณะไม่ได้ยินเสียงความถี่ต่ำ (เช่น เสียงนาฬิกา เสียงกริ่งโทรศัพท์ เป็นต้น) แต่ในระยะต่อ ๆ มาจะไม่ได้ยินเสียงที่มีความถี่ที่สูงขึ้นไป และจะค่อย ๆ มีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ ในขณะที่อาการบ้านหมุนที่กำเริบเป็นครั้งคราวจะมีความรุนแรงน้อยลงไปเรื่อย ๆ
อาการหูตึงจะทวีความรุนแรง จนในที่สุดจะกลายเป็นหูหนวก (สูญเสียการได้ยิน) ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ และเมื่อเกิดอาการหูหนวก อาการบ้านหมุนก็จะหายไป แต่ยังคงมีอาการทรงตัวไม่ดีร่วมกับอาการหูหนวกอย่างเรื้อรังต่อไป
อาการผิดปกติเกี่ยวกับการได้ยิน ในระยะแรกอาจเกิดขึ้นที่หูข้างเดียว ในระยะหลังอาจเกิดทั้ง 2 ข้าง
ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนมากจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจทำให้มีความอ่อนล้าง่าย มีความวิตกกังวล อารมณ์ซึมเศร้า
ขณะที่เกิดอาการบ้านหมุนรุนแรงและสูญเสียการทรงตัว อาจเสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุหรือหกล้มได้
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการหูตึงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหูหนวก ซึ่งอาจเป็นเพียงข้างเดียวหรือสองข้าง และอาการบ้านหมุนที่ทำให้รู้สึกทรมานหรือน่ารำคาญมักจะหายไปได้เองภายหลังที่หูหนวก
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการสำคัญ ได้แก่ มีอาการบ้านหมุนตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป และนานครั้งละ 20 นาทีขึ้นไป ร่วมกับมีอาการหูตึง มีเสียงดังในหู และรู้สึกแน่นในหู
ในรายที่ไม่แน่ใจ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม โดยการใช้เครื่องมือตรวจสมรรถภาพของการได้ยิน (audiometry) และตรวจความผิดปกติของหูชั้นในที่เกี่ยวกับการทรงตัว (เช่น videonystagmography, rotary-chair testing, vestibular evoked myogenic potentials testing, electrocochleography, video head impulse test, posturography เป็นต้น)
ในรายที่สงสัยว่าอาจมีสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ (เช่น ซิฟิลิส) หรือสงสัยอาจเป็นโรคทางสมอง (เช่น เนื้องอกสมอง) แพทย์จะทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น ตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอล (สำหรับวินิจฉัยโรคซิฟิลิส) เอกซเรย์ ตรวจคลื่นสมอง ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
ถ้ามีอาการบ้านหมุนมาก แพทย์จะฉีดไดเฟนไฮดรามีน หรือไดเมนไฮดริเนต หรืออะโทรพีน ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการได้ ถ้าอาการไม่มาก แพทย์จะให้กินยาแก้อาเจียน เช่น ไดเมนไฮดริเนต
ถ้ามีอาการอาเจียนมาก กินไม่ได้ และมีภาวะขาดน้ำ แพทย์จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยลดอาหารเค็ม และให้ยาขับปัสสาวะ (เช่น ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์) ทุกวันอย่างต่อเนื่อง (แม้ว่าอาการจะทุเลาไปแล้ว) ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำในหูชั้นในลดลง อาการมักจะดีขึ้นหลังกินยาประมาณ 1 เดือนไปแล้ว
นอกจากนี้ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการหรือภาวะอื่นที่พบร่วมด้วย เช่น ถ้ามีความวิตกกังวล ให้ยากล่อมประสาท (เช่น ไดอะซีแพม), ถ้าตรวจพบว่าเกิดจากซิฟิลิส ให้การรักษาแบบซิฟิลิส, ใช้เครื่องช่วยฟังในรายที่มีอาการหูตึงมาก, ทำกายภาพบำบัด ในรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัวไม่ดี เป็นต้น
ถ้าหากใช้ยาไม่ได้ผล อาจให้การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การฉีดยา (เช่น เจนตาไมซิน, สตีรอยด์) เข้าไปในหูชั้นกลาง ให้ยาซึมเข้าไปในหูชั้นในเพื่อลดอาการบ้านหมุน, การใส่อุปกรณ์ (ที่มีชื่อว่า "Meniett pulse generator") ที่หูชั้นนอก เพื่อเป่าลมเข้าไปเพิ่มความดันในหูชั้นใน ช่วยลดอาการบ้านหมุนและเสียงดังในหู เป็นต้น
มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่ใช้วิธีการรักษาต่าง ๆ ไม่ได้ผล แพทย์ก็จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เพื่อป้องกันมิให้โรคลุกลาม และช่วยให้อาการหายขาดได้ เช่น การผ่าตัดถุงเอ็นโดลิมฟ์ เพื่อลดปริมาณน้ำในหู (endolymph), การตัดเส้นประสาทการทรงตัว (vestibular nerve section) เป็นต้น
ผลการรักษา อาการบ้านหมุนมักจะหายไปได้เองถึงร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี และร้อยละ 70 หลังมีอาการครั้งแรก 8 ปี แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังคงมีอาการหูหนวกและการทรงตัวไม่ดีต่อไป ซึ่งสามารถให้การดูแลรักษาและใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และมีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติทั่วไป
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการบ้านหมุน ร่วมกับอาการอาเจียน หูตึง มีเสียงดังในหู รู้สึกแน่นในหูคล้ายมีอะไรอุด ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคเมเนียส์ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ลดอาหารเค็ม จำกัดการบริโภคเกลือไม่เกินวันละ 1,500-2,000 มก. และเกลี่ยการบริโภคเกลือออกไปตามมื้ออาหารทั้งวัน
หลีกเลี่ยงการบริโภคสุรา ยาสูบ ชา กาแฟ และช็อกโกแลต เพราะอาจทำให้น้ำในหูเสียสมดุล กระตุ้นให้อาการกำเริบได้
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น แสงสว่าง การอ่านหนังสือ ดูทีวี การเคลื่อนไหวเร็ว ๆ
หลีกเลี่ยงการขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ซึ่งยากที่จะคาดการณ์ได้
ในระยะที่ไม่มีอาการกำเริบ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นใน
ขณะมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนกำเริบ ซึ่งมักอยู่ ๆ ก็เกิดอาการขึ้นฉับพลันทันที ควรปฏิบัติ ดังนี้
- ควรนั่งพักหรือนอนพักทันที ควรนอนราบบนเตียงนอนหรือบนพื้น
- ถ้าอาการเกิดขึ้นขณะทำงาน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร) หรือขณะขับรถ ควรหยุดการทำงานหรือหยุดรถข้างทาง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
- ถ้ามีอาการเกิดขึ้นขณะเดิน ควรหยุดเดินและนั่งพักทันที หากฝืนเดินต่อไปอาจทำให้ผู้ป่วยล้ม เกิดอุบัติเหตุได้
- ควรมองไปยังวัตถุที่อยู่นิ่ง ไม่มองไปที่วัตถุที่เคลื่อนไหว
- หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยทางเรือ เพราะจะทำให้มีอาการมากขึ้นได้
- กินยาบรรเทาอาการตามที่แพทย์แนะนำ
- อย่ากินอาหารหรือดื่มน้ำมากเช่นปกติ ควรกินอาหารหรือจิบน้ำทีละน้อย เพื่อลดอาการอาเจียน
- เมื่ออาการเริ่มทุเลาลง ควรค่อย ๆ ลุกขึ้น ควรมีคนคอยพยุงเวลาลุกขึ้นเดิน ถ้าตื่นลุกเข้าห้องน้ำตอนกลางดึก ควรเปิดไฟในห้องให้สว่าง ถ้ามีอาการเวียนศีรษะ หรือรู้สึกโคลงเคลงมาก เวลาเดินควรใช้ไม้เท้าช่วยป้องกันไม่ให้หกล้ม หรือมีคนคอยพยุง และควรพยายามนอนหลับต่อ ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้น
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีอาการบ้านหมุนมาก หรือไม่สามารถลุกเดินหรือทำงานได้
อาเจียนมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ หรือมีภาวะขาดน้ำ
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ควรป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม โดยการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่น่าสงสัย
ผู้ป่วยสามารถป้องกันไม่ให้อาการกำเริบบ่อยด้วยการรักษาและปฏิบัติตัว รวมทั้งสังเกตว่ามีอะไรเป็นสิ่งกระตุ้นให้อาการกำเริบ แล้วพยายามหลีกเลี่ยง เช่น แสงจ้า ผงชูรส เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การกินข้าวผิดเวลา การอดนอน ร่างกายเหนื่อยล้า ความเครียด เป็นต้น
ข้อแนะนำ
1. อาการบ้านหมุนมักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหูชั้นใน ซึ่งอาจมีสาเหตุหลายประการด้วยกัน หากมีอาการบ้านหมุนรุนแรง หรือเป็นครั้งละนานมากกว่า 20 นาที เป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หูตึง มีเสียงดังในหู หรือสูญเสียการทรงตัว มักจะไม่ใช่มีสาเหตุจากโรคบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า (บีพีพีวี) แต่อาจเกิดจากโรคเมเนียส์ หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน หรือเนื้องอกประสาทหูได้ ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุ
2. โรคเมเนียส์ (โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน) มักมีอาการบ้านหมุนเป็น ๆ หาย ๆ เป็นครั้งคราว นานเป็นปี ๆ โดยเมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น ก็จะมีการกำเริบห่างขึ้น และอาการบ้านหมุนมักจะหายได้เองในที่สุด และแม้จะยังมีอาการหูตึงและการทรงตัวไม่ดีเรื้อรังต่อไป แต่ก็สามารถมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ส่วนใหญ่แพทย์สามารถให้การรักษาตามอาการ และด้วยวิธีที่ไม่ใช่การผ่าตัด มีเพียงส่วนน้อยที่อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
3. โรคเมเนียส์มักมีอาการคล้ายกับโรคไมเกรนชนิดมีอาการบ้านหมุน (vestibular migraine) คือ มีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียนเป็นครั้งคราวเหมือนกัน และอาจมีสาเหตุกระตุ้นให้อาการกำเริบแบบเดียวกัน เช่น แสงจ้าหรือแสงกะพริบ ผงชูรส กินอาหารผิดเวลา ชา กาแฟ ช็อกโกแลต เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายเหนื่อยล้า ความเครียด แต่ต่างกันที่โรคเมเนียส์จะมีอาการหูตึงร่วมด้วย (ซึ่งพบได้น้อยในไมเกรน) ส่วนไมเกรนจะมีอาการปวดศีรษะ กลัวแสง กลัวเสียงร่วมด้วย (ซึ่งพบได้น้อยในโรคเมเนียส์) โรคเมเนียส์มักมีอาการนานครั้งละ 20 นาทีถึง 2 ชั่วโมง (ไม่เกิน 24 ชั่วโมง) ส่วนไมเกรนจะมีอาการนานครั้งละ 4-72 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการบ้านหมุนเป็นครั้งคราว ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด และให้การรักษาและให้คำแนะนำกับผู้ป่วยให้เหมาะกับโรคที่เป็น
โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: โรคเมเนียส์ (Ménière’s disease) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com