ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: กรวยไตอักเสบเรื้อรัง (Chronic pyelonephritis)  (อ่าน 7 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 654
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: กรวยไตอักเสบเรื้อรัง (Chronic pyelonephritis)
« เมื่อ: วันที่ 6 พฤศจิกายน 2024, 10:02:36 น. »
หมอประจำบ้าน: กรวยไตอักเสบเรื้อรัง (Chronic pyelonephritis)

กรวยไตอักเสบเรื้อรัง หมายถึง ภาวะที่กรวยไตมีการติดเชื้ออักเสบกำเริบซ้ำซาก หรือเป็นต่อเนื่องไม่หาย ทำให้เนื้อไตเสื่อม เกิดพังผืดในเนื้อไต ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังแทรกซ้อนตามมาในระยะยาวได้

โรคนี้พบในเด็กเล็กมากกว่าผู้ใหญ่ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายราว 2 เท่า

ในทารกและเด็กเล็ก พบว่าเกิดจากภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับจากกระเพาะปัสสาวะขึ้นไปที่ท่อไตและกรวยไต (vesicoureteral reflux/VUR) เป็นสำคัญ ซึ่งมักมีประวัติว่ามีพ่อแม่หรือพี่น้องมีภาวะนี้ด้วย

สาเหตุ

กรวยไตอักเสบเรื้อรังมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซาก เนื่องจากมีความผิดปกติของโครงสร้างทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุที่สำคัญและพบบ่อยในทารกและเด็กเล็ก ได้แก่ ภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับจากกระเพาะปัสสาวะขึ้นไปที่ท่อไตและไต (vesicoureteral reflux/VUR) เนื่องจากความผิดปกติของลิ้นกั้นระหว่างท่อไตกับกระเพาะปัสสาวะซึ่งมักเป็นมาแต่กำเนิด ทำให้นำเชื้อแบคทีเรียขึ้นไปทำให้กรวยไตติดเชื้ออักเสบ นอกจากนี้ภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับดังกล่าวยังทำให้เกิดการเพิ่มแรงดันในกรวยไต ซึ่งไปทำลายเนื้อเยื่อไตกลายเป็นพังผืด เสริมให้ไตเสื่อมอีกทางหนึ่ง

ในผู้ใหญ่มักเกิดจากการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะเนื่องจากภาวะบางอย่าง (เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต) หรือกระเพาะปัสสาวะไม่ทำงาน เนื่องจากความผิดปกติของไขสันหลัง (เช่น ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ โพรงกระดูกสันหลังแคบ รากประสาทถูกกดทับ)

อาการ

ในรายที่มีอาการแสดง อาจมีไข้ หนาวสั่น ปวดสีข้าง ปัสสาวะขัด ปัสสาวะขุ่น แบบเดียวกับกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน หรืออาจมีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ซึม ซึ่งมักเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย

ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจไม่มีอาการแสดงอะไรที่ชัดเจน ซึ่งบางครั้งอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพด้วยสาเหตุอื่น เช่น ตรวจพบสารไข่ขาว (proteinuria) หรือเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะ (bacteriurea), พบมีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะจำนวนมาก, ตรวจพบค่าครีอะตินีนในเลือดสูงกว่าปกติ หรือตรวจพบไตฝ่อจากการถ่ายภาพไต เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

    หากมีการกำเริบของกรวยไตอักเสบรุนแรง และไม่ได้รับการรักษา ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการลุกลามของเชื้อแบคทีเรีย เช่น ฝีในไตหรือรอบ ๆ ไต โลหิตเป็นพิษ เป็นต้น 
    ความดันโลหิตสูง (ซึ่งพบตั้งแต่ในวัยเด็ก)
    สำหรับเด็กเล็กที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และร่างกายเจริญเติบโตช้า
    ที่สำคัญคือ การอักเสบซ้ำซากและแรงดันที่เพิ่มขึ้นในกรวยไต ทำให้เนื้อเยื่อไตถูกทำลายลงทีละน้อย ไตกลายเป็นพังผืด ไตฝ่อและเสื่อมตัวลงอย่างช้า ๆ ถ้าเกิดที่ไตข้างเดียวก็จะไม่มีอาการ แต่ถ้าเกิดที่ไตทั้ง 2 ข้าง ก็จะเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง (มีอาการบวม อ่อนเพลีย ซีด ความดันโลหิตสูง) ในระยะต่อมา (อาจนานเป็นปี ๆ หรือสิบ ๆ ปี) ก็จะกลายเป็นไตวายเรื้อรังระยะท้าย ซึ่งจำเป็นต้องรักษาด้วยการล้างไตหรือปลูกถ่ายไต

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย

ในรายที่ไม่มีอาการที่ชัดเจน การตรวจร่างกายมักไม่พบความปกติชัดเจน นอกจากอาจพบความดันโลหิตสูง หรือภาวะซีด

ในรายที่มีอาการกำเริบ จะมีไข้ เคาะเจ็บที่สีข้าง ปัสสาวะขุ่น

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ (พบเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก ทั้งชนิดเดี่ยวและชนิดเกาะเป็นแพ) เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การถ่ายถาพรังสีไตด้วยการฉีดสารทึบรังสี (intravenous pyelogram) การใช้กล้องส่องตรวจทางเดินปัสสาวะ  การเพาะเชื้อ และการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อค้นหาความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะและประเมินความรุนแรงของโรค


การรักษาโดยแพทย์

ขณะที่มีอาการของการติดเชื้อ (เช่น มีไข้ ปวดสีข้าง ปัสสาวะขุ่น) แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และติดตามดูอาการของผู้ป่วยติดต่อกันเป็นเวลานาน ด้วยการตรวจปัสสาวะและตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ ดูว่ามีภาวะไตวายแทรกซ้อนหรือไม่

บางรายแพทย์อาจให้กินยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานานเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ

ถ้าพบความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะหรือภาวะที่อุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่ว ต่อมลูกหมากโต ก็จะทำการผ่าตัดแก้ไข ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้กรวยไตอักเสบกำเริบได้

ในเด็กเล็กที่มีภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ (VUR) ที่ไม่รุนแรง ก็อาจหายได้เองในเวลาต่อมา ส่วนเด็กที่มีภาวะนี้รุนแรง แพทย์ก็จะแก้ไขด้วยการผ่าตัด

นอกจากนี้ แพทย์จะทำการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น ให้ยาลดความดันสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง

ในรายที่เกิดภาวะไตวายเรื้อรังระยะท้าย แพทย์ก็จะให้การรักษาด้วยการล้างไตหรือปลูกถ่ายไต

ผลการรักษา ขึ้นกับสาเหตุ ความรุนแรง การเกิดความผิดปกติที่ไตข้างเดียวหรือ 2 ข้าง และการตอบสนองต่อการรักษา ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่แรก ส่วนใหญ่มักจะหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ (ไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษา เพราะอาการไม่เด่นชัด) ได้รับการรักษาล่าช้าไปหรือไม่ต่อเนื่อง มีอาการอักเสบกำเริบรุนแรงบ่อย หรือไม่ได้รับการแก้ไขภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ (VUR)/ภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ที่สำคัญคือภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่ภาวะไตเสื่อมจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ในที่สุดก็จะกลายเป็นไตวายเรื้อรังระยะท้ายได้

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดบริเวณสีข้าง ปัสสาวะขุ่น หรือเป็นกรวยไตอักเสบเฉียบพลันบ่อย ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรัง ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการของกรวยไตอักเสบเฉียบพลันกำเริบใหม่
    มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซีด คลื่นไส้ อาเจียน ซึม ท้องเดิน หรือเท้าบวม
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

1. ป้องกันมิให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ โดยการปฏิบัติตัว ดังนี้

    ดื่มน้ำมาก ๆ
    อย่าอั้นปัสสาวะเวลามีอาการปวดปัสสาวะ
    หลังถ่ายอุจจาระ ควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง
    ควรดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนร่วมเพศ และถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ

2. เมื่อเป็นกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ให้รีบรักษาแต่เนิ่นให้ได้ผล ติดตามตรวจกับแพทย์เพื่อเฝ้าตามดูการดำเนินของโรคอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งในกรณีที่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะป้องกันระยะยาว ก็ทำตามอย่างเคร่งครัด

3. รักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรคกรวยไตอักเสบ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เบาหวาน เอดส์ ต่อมลูกหมากโต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ เนื้องอกในทางเดินปัสสาวะหรือในช่องท้อง เป็นต้น

ข้อแนะนำ

1. โรคกรวยไตอักเสบเรื้อรังที่พบในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ (VUR) ซึ่งสามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้เป็นส่วนใหญ่ หากเด็กมีอาการกรวยไตอักเสบชัด ๆ (ไข้ ปวดสีข้าง และปัสสาวะขุ่น) หรือมีอาการไม่เด่นชัด (เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือเบื่ออาหารโดยไม่ทราบสาเหตุ) ควรปรึกษาแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจปัสสาวะและตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เมื่อตรวจพบว่าเป็นกรวยไตอักเสบจากภาวะดังกล่าว ก็จะดูแลรักษาให้หายได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

และเนื่องจากภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ (VUR) สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม พี่น้องของผู้ที่เป็นโรคนี้ (ซึ่งมักไม่รู้ตัวเพราะไม่มีอาการ) ควรไปปรึกษาแพทย์ หากตรวจพบว่ามีภาวะดังกล่าว จะได้แก้ไขเพื่อป้องกันโรคกรวยไตอักเสบเรื้อรังและไตวายเรื้อรังในระยะยาว

2. บางครั้งอาจพบผู้ป่วยเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรังที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหลายขนาน โดยยังตรวจพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ แต่ตรวจไม่พบเชื้อ (จากวิธีเพาะเชื้อตามปกติ) ในกรณีนี้ควรนึกถึงสาเหตุจากวัณโรคไต ซึ่งจะต้องวินิจฉัยโดยการส่งปัสสาวะเพาะหาเชื้อวัณโรคโดยเฉพาะ และให้ยารักษาวัณโรคจึงจะได้ผล