ผู้เขียน หัวข้อ: ซ่อมบำรุงอาคาร: วิธีเช็กหลังคารั่ว ป้องกันเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายในช่วงหน้าฝน  (อ่าน 29 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 656
    • ดูรายละเอียด
ซ่อมบำรุงอาคาร: วิธีเช็กหลังคารั่ว ป้องกันเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายในช่วงหน้าฝน

ในช่วงหน้าฝนเช่นนี้ หนึ่งในปัญหาเรื่องบ้านที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ ‘หลังคารั่ว’ การเตรียมบ้านให้พร้อมรับกับสภาพอากาศที่แปรปรวนจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการดูแลรักษาหลังคาบ้าน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยป้องกันทั้งภายนอกบ้านและสิ่งของภายในบ้านให้ปลอดภัยจากแดด ลม และฝน

ปัญหาหลังคารั่วซึม อาจดูเป็นปัญหาจุดเล็ก ๆ แต่แท้จริงแล้วสามารถกระตุ้นไปสู่ปัญหาของเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าของบ้านได้ เพราะหากมีน้ำรั่วในบริเวณที่มีกระแสไฟฟ้า อาจทำให้เกิดไฟฟ้ารั่วไหล หรือไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งเป็นสาเหตุของไฟลุกไหม้ได้ ก่อนจะไปพบกับวิธีการเช็กหลังคารั่ว จะพาทุกคนไปดูถึงสาเหตุของหลังคารั่วเพื่อเป็นการศึกษาปัญหาตั้งแต่ต้นตอ

บ้านที่มีอายุนานหลายปี แน่นอนว่าวัสดุต่าง ๆ ก็คงเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา หรือแม้แต่การเริ่มต้นก่อสร้างแบบผิด ๆ ล้วนนำไปสู่ปัญหาหลังคารั่วได้เช่นกัน โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาหลังคารั่ว มีดังนี้


สาเหตุการเกิดปัญหาหลังคารั่ว


1.    การมุงหลังคาที่ไม่ได้มาตรฐาน

การมุงหลังคาโดยช่างที่ขาดความเชี่ยวชาญอาจก่อให้เกิดปัญหากับโครงสร้างของหลังคาได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักจะยากต่อการซ่อมแซมและอาจถึงขั้นต้องรื้อเปลี่ยนหลังคาใหม่ ยกตัวอย่างเช่น การใช้วัสดุหรือเครื่องมือที่ไม่เหมาะกับการติดตั้งหลังคา จนทำให้เกิดความเสียหายหรือทำให้หลังคาเสื่อมสภาพเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงการติดตั้งหลังคาผิดวิธี หรือการคำนวณความลาดชัน ระยะแป และการติดตั้งรางน้ำตะเข้ที่มาสัมพันธ์กับพื้นที่หลังคาก็อาจทำให้มีน้ำไหลเข้าใต้หลังคาและเกิดหลังคารั่วซึมได้เช่นเดียวกัน


2.    การเสื่อมสภาพตามระยะเวลา

หลังคาที่ผ่านการใช้งานหลายปีมักมีการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา แม้จะใช้วิธี อุด โปะ ปะ เพื่อซ่อมแซมหลังคาให้ยังคงใช้งานได้ชั่วคราว แต่เมื่อเวลาผ่านไปวัสดุที่ใช้ก็อาจเสื่อมสภาพและเกิดการรั่วซึมอีกครั้งได้


3.    การบำรุงรักษาที่ไม่เหมาะสม

การตรวจและซ่อมแซมหลังคาเป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านควรปฏิบัติอยู่เป็นประจำ เนื่องจากการปล่อยปละละเลยให้บนหลังคามีเศษใบไม้กิ่งไม้ทับถมเป็นจำนวนมากหรืออุดตันรางน้ำจนไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างสะดวกก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มีน้ำรั่วซึมเข้าสู่ใต้หลังคาได้

เช็กหลังคารั่วได้อย่างไร?

    สังเกตโครงสร้างของหลังคาว่าไม่ได้รับความเสียหาย เช่น ทรงหลังคาได้ระดับ มีความสมมาตร ไม่เอียงหรือบิดเบี้ยว เป็นต้น
    มีการติดตั้งกระเบื้องมุงหลังคาซ้อนกันเป็นแนวสวยงาม ไม่มีการเผยอ หรือหลุดจากแนว เนื่องจากอาจทำให้เกิดการรั่วซึมผ่านรอยต่อของกระเบื้องได้
    ตรวจสอบรอยแตกร้าวบนหลังคา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซึมผ่านรอยร้าวได้
    เช็กว่าที่ครอบแนวสันหลังคาและตะเข้สันปิดมิดชิดหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบรอยร้าวใต้ที่ครอบเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีน้ำเข้าได้ง่าย
    ตรวจหาคราบน้ำบนฝ้าชายคาและฝ้าเพดาน รวมถึงรอยบวมของสี หากพบว่าบนฝ้าหรือผนังมีความชื้นผิดปกติ ควรรีบตรวจสอบหาที่มาของการรั่วซึมในทันที เนื่องจากส่งผลต่อความสวยงามของบ้าน และหากปล่อยทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดเชื้อรา กลิ่นอับ หรือปัญหาฝ้าถล่มได้
    เปิดช่องเซอร์วิสหรือฝ้าเพดานใต้หลังคา เพื่อตรวจสอบว่าหลังคารั่วซึมหรือไม่ สังเกตจุดรั่วซึมได้โดยดูว่ามีการเล็ดลอดของแสงผ่านหลังคาในช่วงเวลากลางวันไหม และมองหาคราบน้ำที่โครงหลังคาในวันที่ฝนตก หรืออาจทดลองทำฝนเทียมฉีดขึ้นหลังคา


วิธีแก้ปัญหาหลังคารั่ว


1.    ปัญหาหลังคารั่วจากกระเบื้อง

กระเบื้องหลังคาเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำหน้าที่ป้องกันบ้าน การมุงกระเบื้องที่ผิดวิธี หรือเลือกอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดปัญหาหลังคารั่วได้ง่าย ดังนั้นจึงควรตรวจสอบวิธีการเรียงกระเบื้อง ระยะซ้อนทับ และการเจาะยึดอุปกรณ์บนหลังคาตามที่คู่มือแนะนำเป็นอย่างดี


2.    ปัญหาหลังคารั่วบริเวณครอบสันหลังคาและตะเข้สัน

หากปัญหาเกิดจากส่วนปูนยึดที่ครอบ ควรรื้อกระเบื้องและดำเนินการติดตั้งใหม่ให้ถูกวิธี เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว เช่น การใช้ระบบครอบแบบแห้ง (Drytech System) เนื่องจากป้องกันการรั่วซึมและทนทานต่อความร้อนได้ดี นอกจากนี้หากพบว่าที่ครอบมีการเผยอหรือติดตั้งไม่ตรงตามแนว ควรทำการรื้อและติดตั้งใหม่ให้เรียบร้อย


3.    ปัญหาหลังคารั่วที่รอยต่อบริเวณรางตะเข้

ปัญหาหลังคารั่วที่บริเวณนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น รางตะเข้ชำรุด การใช้รางที่ผิดรูปหรือขนาด การติดตั้งรางที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะทำให้รางระบายน้ำได้ไม่ดีและไหลย้อนเข้าสู่ใต้กระเบื้องหลังคา ดังนั้นเจ้าของบ้านควรทำการติดตั้งรางตะเข้ที่ได้มาตรฐานและมีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่หลังคา รวมถึงควรนำเศษกิ่งไม้ใบไม้ออกจากรางน้ำเป็นประจำเพื่อป้องกันการอุดตัน


4.    ปัญหาหลังคารั่วบริเวณหัวสกรู

หากพบรอยรั่วที่บริเวณหัวสกรู หรือรอยแตกขนาดเล็ก 1-5 มิลลิเมตร สามารถอุดรอยรั่วด้วยการยิงวัสดุอุดประเภทโพลียูรีเทนให้ทั่ว และทาวัสดุกันซึมทับอีกชั้น


 5.   ปัญหาหลังคารั่วจากรอยแตก

ถ้ารอยแตกบนหลังคามีขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตร ให้ปิดรอยรั่วด้วยเทปกันน้ำ และทาวัสดุกันซึมทับอีกชั้น


6.    ปัญหาหลังคารั่วหลายจุดทั่วหลังคา

วิธีการซ่อมแซมที่ดีที่สุดสำหรับหลังคาที่พบรอยแตกร้าวหลายจุดทั่วหลังคา คือ การรื้อเปลี่ยนหลังคา เนื่องจากมีประสิทธิภาพดีกว่าและคุ้มค่าในระยะยาว