ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นภาวะความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติตลอดเวลา และเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์ ผู้ป่วยควรใช้ชีวิตตามแนวทางปฏิบัติที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด และหนึ่งในวิธีการดูแลรักษาสุขภาพเพื่อควบคุมความดัน อาจทำได้ด้วยการใส่ใจในด้านการรับประทานอาหารที่ช่วยลดความดัน
รู้จักกับความดันโลหิต
ความดันโลหิต คือ ความดันในหลอดเลือดในขณะหัวใจสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอดเลือด โดยแบ่งเป็นความดันซิสโตลิก (Systolic Pressure) คือ ค่าความดันเลือดสูงสุดขณะที่หัวใจบีบตัว และความดันไดแอสโตลิก (Diastolic Pressure) คือ ค่าความดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว ในการวัดผลความดันโลหิตจึงปรากฏเป็นตัวเลข 2 จำนวน โดยบันทึกค่าความดันซิสโตลิกเป็นตัวแรก ตามด้วยความดันไดแอสโตลิก เช่น 120/80 มิลลิเมตรปรอท (mmHg)
ความดันโลหิตที่อยู่ในระดับปกติ ได้แก่ ความดันเลือดสูงสุดขณะที่หัวใจบีบตัวอยู่ในระหว่าง 90-120 มิลลิเมตรปรอทในขณะที่ความดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัวอยู่ระหว่าง 60-80 มิลลิเมตรปรอท ผู้ที่มีค่าความดันโลหิตผิดไปจากเกณฑ์ปกติ ย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพที่สำคัญตามมา
โดยระดับความดันโลหิตที่เสี่ยงเป็นอันตรายจากภาวะความดันโลหิตสูงตามลำดับ ได้แก่
ภาวะก่อนความดันโลหิตสูง Systolic Pressure(mmHg) 120-139, Diastolic Pressure (mmHg) 80-89
ภาวะก่อนความดันโลหิตสูง ขั้นที่ 1 Systolic Pressure(mmHg) 140-159, Diastolic Pressure (mmHg) 90-99
ภาวะก่อนความดันโลหิตสูง ขั้นที่ 2 Systolic Pressure(mmHg) 160-179, Diastolic Pressure (mmHg) 100-110
ภาวะก่อนความดันโลหิตสูง ขั้นวิกฤต Systolic Pressure(mmHg) 180 ขึ้นไป, Diastolic Pressure (mmHg) 110 ขึ้นไป
มีงานค้นคว้าวิจัยมากมายเกี่ยวกับสารอาหารจากการบริโภคอาหารแต่ละประเภท ด้วยสมมติฐานที่ว่า สารอาหารและโภชนาการต่าง ๆ ที่เราบริโภคในชีวิตประจำวัน อาจมีส่วนช่วยในการลดความดันโลหิต และส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีได้ด้วย
แม้ว่าสารอาหารบางอย่างจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย แต่ในแง่ของการลดความดันโลหิตนั้น อาหารลดความดันประเภทใดบ้างที่อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพของหลอดเลือด และช่วยควบคุมความดันของคุณได้
อาหารลดความดันที่อาจช่วยควบคุมความดันโลหิต และส่งเสริมสุขภาพที่ดีของหลอดเลือด
1. เนื้อปลา
เนื้อปลาเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูง แต่ให้แคลอรี่ต่ำ และในปลาบางชนิดมีกรดไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งเป็นสารอาหารที่พบได้ในไขมันปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปลาแซลมอน ทูน่า ซาร์ดีน แมคเคอเรล งานค้นคว้าส่วนใหญ่สนับสนุนแนวคิดที่ว่า ควรบริโภคปลาในมื้ออาหารอย่างน้อย 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อให้ได้รับสารโอเมก้า-3 ในปริมาณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
2. ไข่
ไข่ เป็นอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง โดยเฉพาะในไข่แดง หลายคนจึงหลีกเลี่ยงและบริโภคส่วนที่เป็นไข่ขาว แต่แท้จริงแล้ว ไข่มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าที่บางคนคิด ไข่หนึ่งฟองอาจให้พลังงานประมาณ 75 แคลอรี่ แต่มีโปรตีนสูงถึง 7 กรัม ไขมัน 5 กรัม ไขมันอิ่มตัวประมาณ 1.6 กรัม และยังมีสารอาหารบางจำพวก เช่น วิตามิน ธาตุเหล็ก เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระแคโรทีนอยด์อีกด้วย โดยคุณประโยชน์สูงสุดของไข่จะเกิดขึ้นเมื่อไข่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างเหมาะสมในตู้เย็นก่อนการบริโภค และปรุงสุกอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย
3. ผักและผลไม้
พืช ผัก ผลไม้ เป็นแหล่งอาหารที่มีเส้นใยสูง อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเบต้า แคโรทีน การบริโภคผักและผลไม้หลากหลายชนิด จึงช่วงบำรุงส่งเสริมให้ร่างกายมีสุขภาพดี ซึ่งสามารถรับประทานเหล่านี้ได้ในรูปแบบผักสด นำไปประกอบอาหาร ผลไม้สด ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้อบแห้ง ผลไม้แปรรูป และน้ำผักผลไม้ เป็นต้น
โรคความดันสูง อาหารลดความดัน กินอย่างไรให้สุขภาพดี อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/