doctor at home: แผลริมอ่อน (Chancroid/Soft chancre) แผลริมอ่อน (ซิฟิลิสเทียม ก็เรียก) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้ประปราย
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ฮีโมฟิลุสดูเครย์ (Hemophilus ducreyi)
ระยะฟักตัว 4-7วัน
อาการ
หลังได้รับเชื้อ 4-7 วัน จะมีตุ่มนูนแดง แล้วกลายเป็นแผลเล็ก ๆ ที่อวัยวะเพศ ลักษณะคล้ายแผลเปื่อย ขอบไม่แข็งและไม่เรียบ เรียกว่า แผลริมอ่อน เวลาเเตะถูกมักมีเลือดซิบ ๆ และรู้สึกเจ็บ มักมีหลายแผล ผู้ชายพบแผลที่ปลายองคชาต หนังหุ้มปลายองคชาต หรือถุงอัณฑะ ผู้หญิงพบแผลที่บริเวณแคมเล็ก หรือด้านนอกของอวัยวะเพศ (เช่น ต้นขา ขาหนีบ ทวารหนัก) หรือปากมดลูก
ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ และผู้หญิงอาจมีอาการตกขาว มีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย
ต่อมาจะพบต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตติดกันเป็นพืดและเจ็บ ลักษณะเป็นสีแดงคล้ำและนุ่ม อาจแตกเป็นหนองได้ ส่วนมากโตเพียงข้างเดียว บางรายอาจมีไข้ หนาวสั่น เบื่ออาหารร่วมด้วย
ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แผลจะลุกลามไปมาก บางรายอาจเป็นมากจนอวัยวะเพศชายแหว่งหายได้ คนไทยเราเรียกว่า โรคฮวบ
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เป็นแผลดึงรั้งจนเกิดภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจทำให้องคชาตเเหว่งหาย (โรคฮวบ)
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้
แผลที่อวัยวะเพศหลายแผล ลักษณะคล้ายแผลเปื่อย ขอบไม่แข็งและไม่เรียบ เวลาเเตะถูกมักมีเลือดซิบ ๆ และรู้สึกเจ็บ
อาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตติดกันเป็นพืดและเจ็บ ลักษณะเป็นสีแดงคล้ำและนุ่ม อาจแตกเป็นหนอง
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการนำหนองไปย้อมสี และส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือนำไปเพาะเชื้อ
การรักษาโดยแพทย์
นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะขนานใดขนานหนึ่ง เช่น
อีริโทรไมซิน ครั้งละ 500 มก. วันละ 3 ครั้งนาน 7 วัน
อะซิโทรไมซิน 1 กรัม กินครั้งเดียว
ไซโพรฟล็อกซาซิน 500 มก. กินวันละ 2 ครั้ง 3 วัน
เซฟทริอะโซน (ceftriaxone) 250 มก. ฉีดเข้ากล้ามครั้งเดียว
สำหรับผู้ที่มีต่อมน้ำเหลืองอักเสบกลายเป็นฝีหนอง แพทย์จะทำการผ่าระบายหนอง หรือใช้เข็มเจาะดูดเอาหนองออก
ผลการรักษา หลังให้ยาปฏิชีวนะ มักจะหายเป็นปกติได้ใน 1-2 สัปดาห์
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีแผลที่อวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตและเจ็บ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นแผลริมอ่อน ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหาย
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา
การป้องกัน
หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ถ้าจะหลับนอนกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัย และฟอกล้างสบู่ทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้บางครั้งอาจแยกออกจากซิฟิลิสไม่ชัดเจน ถ้ารักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือสงสัยเป็นซิฟิลิส ควรแนะนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล
2. แม้ว่าอาการจะหายดีแล้ว หลังจากวันที่รับการรักษา 3 เดือน ผู้ป่วยก็ควรเจาะเลือดตรวจวีดีอาร์แอลและเชื้อเอชไอวี เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นซิฟิลิสหรือติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย
3. ควรรักษาแผลเฉพาะที่โดยใช้น้ำเกลือชะล้าง ไม่ต้องใส่ยาอะไรทั้งสิ้น ไม่ควรใช้เพนิซิลลิน หรือซัลฟาใส่แผล เพราะอาจทำให้แพ้ได้ง่าย
4. ผู้หญิงบางรายที่เป็นโรคนี้อาจไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ หากสงสัย เช่น มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์
5. ในรายที่เป็นโรคเอดส์ร่วมด้วย การรักษาแผลริมอ่อนอาจไม่ได้ผล หรือต้องใช้ยารักษาเป็นเวลานานกว่าปกติ